บริเวณวัดวังพระธาตุ ด้านหน้าวัดมีศาลของท้าวแสนปมและในบริเวณวัด มีรูปปั้น ท้าวแสนปม ที่คนทั่วไปให้ความเคารพนับถือ ในฐานะเป็นตำนานของท้าวแสนปม ผู้สร้างเมือง เทพนคร ฝั่งตรงกันข้ามกับนครไตรตรึงษ์ มีตำนานเล่าขานกันมาช้านาน
นอกจากคำเล่าขานของชาวบ้านแล้วท้าวแสนปมตามตำนานในต้นพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ว่าในจุลศักราช 681 พ.ศ. 1862 ท้าวแสนปม ได้ไปสร้างเมืองใหม่ขึ้นที่เมืองเทพนครและขึ้นครองราชย์สมบัติในเมืองเทพนคร ทรงพระนามว่าพระเจ้าสิริชัยเชียงแสนครองราชย์สมบัติ 25 ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช 706 พ.ศ. 1887 ทรงมีพระราชโอรสทรงพระนามว่าพระเจ้าอู่ทองได้ชื่อเช่นนี้เพราะ เพราะพระราชบิดานำทองคำมาทำเป็นอู่ให้นอน จึงขนานนามพระองค์ว่าพระเจ้าอู่ทอง ภายหลังพระเจ้าอู่ทองเป็นผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวงและทรงพระนามว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่1
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวิจารณ์เรื่องท้าวแสนปมไว้ในหนังสือบทละครเรื่องท้าวแสนปม ที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ว่า ตำนานเรื่องท้าวแสนปมนี้จะต้องมีมูลความจริง เพราะอย่างน้อยศักราชที่ทรงทิวงคต เป็นของแน่นอน แต่มีผู้เล่าต่อๆกันมาภายหลัง เล่าไปในทางปาฏิหาริย์จนเหลือเชื่อ
จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน และพระราชนิพนธ์เรื่องท้าวแสนปมของรัชกาลที่ 6 ล้วนมีแนวทางใกล้เคียงกันว่าท้าวแสนปมคือพระชินเสน โอรสของท้าวศรีวิชัย ได้ข่าวว่านางอุษาธิดาของเจ้าเมืองไตรตรึงษ์งดงาม จึงคิดลองพระทัยจึง ปลอมเป็นชายเข็ญใจ ชื่อแสนปม เพราะทำปุ่มปมเต็มตัวเพื่อลองใจนาง แล้วแฝงเข้าไปอยู่กับคนทำสวนหลวง จนได้พบนาง แล้วถวายมะเขือท้าวแสนปม จารึกคารมรักบนผลมะเขือ เป็นปริศนาว่า (ฉายรมณีย์แห่งอารยธรรมมรดกดลกกำแพงเพชร ตอนที่ 1ประกอบ)
ในลักษณ์นั้นว่านิจจาเอ๋ย
อกผ่าว ราวสุมรุมไฟ เสียแรงเกิดมาเป็นนักรบ สู้กรำลำบากยากนาน ได้เห็นแก้วประเสริฐเลิศชม เคยพบสาวฟ้าสุราลัย โอ้แก้วแวววับช่างจับจิต โอ้เอื้อมสุดหล้าดังฟ้าดิน |
กระไรเลยหัวอกหมกไหม้
ทำไฉนจะพ้นไฟราญ เผ่าพงศ์ทรงภพมหาศาล ยอมเป็นปมเป็นปานเปรอะไป จะนิยมก้อนกรวดกระไรได้ หรือจะใฝ่ในชาวปัถพิน จะใคร่ปลิดปลดมาดังถวิล จะได้สมดังจินต์ฉันใด |
นางอุษาตอบ สาส์นรัก ตอบลงในใบพลูเป็นปริศนาเช่นกันว่า
ในลักษณ์นั้นหนาน่าประหลาด
เหตุไฉนย่อท้อรอรา เห็นแก้วแวววับที่จับจิต เมื่อไม่เอื้อมจะได้อย่างไรมี อันของสูงแม้ปองต้องจิต ไม่ใช่ของตลาดที่อาจซื้อ ไม่คิดสอยมัวคอยดอกไม้ร่วง ดูแต่ภุมรินเที่ยวบินตอม |
เป็นเชื้อชาตินักรบกลั่นกล้า
หรือจะกล้าแต่เพียงวาที ไยไม่คิดอาจเอื้อมให้เต็มที่ อันมณีหรือจะโลดไปถึงมือ ถ้าไม่คิดปีนป่ายจะได้หรือ ฤาแย่งยื้อถือได้โดยไม่ยอม คงชวดดวงบุปผชาติสะอาดหอม จึงได้ออมอบกลิ่นสุมาลี |
ในที่ ทั้งสองกษัตริย์ได้ลักลอบพบกัน จนนางอุษาตั้งพระครรภ์ ชาวบ้านไม่เข้าใจจึงคิดว่านางอุษาเสวยมะเขือแล้วตั้งท้อง จึงเกิดตำนานท้าวแสนปม ว่า (ใช้ภาพวาดประกอบการ)
นานมาแล้วมีชายผู้หนี่ง ถูกลอยแพมาติดที่เกาะขี้เหล็ก ซึ่งอยู่ใต้เมืองกำแพงเพชร ชายผู้นั้นมีรูปร่างน่าเกลียดมีปุ่มปมขึ้นเต็มตัว ชาวบ้านจึงเรียกเขาว่า แสนปม และเรียกเกาะขี้เหล็กว่า เกาะตาปม ตามชื่อแสนปม นายแสนปมทำไร่ ปลูกพริก ปลูกมะเขืออยู่ที่เกาะปมนี้ และมีมะเขือต้นหนึ่ง อยู่หน้ากระท่อมมีผลใหญ่มาก เพราะแสนปม ปัสสวะ รดทุกวัน
วันหนึ่งพระราชธิดาของเจ้าเมืองกำแพงเพชร เสด็จประพาสที่เกาะปม ทอดพระเนตรเห็นผลมะเขือ ก็นึกอยากเสวย จึงรับสั่งให้นางสนมไปขอเจ้าของมะเขือ แสนปมจึงเก็บผลมะเขือ ที่อยู่หน้ากระท่อม ให้นางสนมไปถวาย หลังจากพระราชธิดาเสวยผลมะเขือไปไม่นานก็ทรงครรภ์ เจ้าเมืองกำแพงเพชร ทรงพิโรธมาก เพราะพระราชธิดาไม่สามารถบอกได้ว่าใครเป็นพ่อ นอกจากเสวยผลมะเขือ ของแสนปมเท่านั้น
ต่อมาพระราชธิดา ทรงมีพระประสูติกาล เป็นพระราชโอรส เจริญวัยหน้ารัก เจ้าเมืองผู้เป็นพ่อ จึงรับสั่งให้เสนา ป่าวประกาศให้ผู้ชายทุกคน มาเสี่ยงทายเป็นพระบิดาของพระราชโอรส ว่า ถ้าผู้ใดเป็นบิดาขอให้โอรสคลานเข้าไปหา บรรดาผู้ชายทุกคน ไม่ว่าหนุ่มแก่ชรา ยาจก เข็ญใจ เศรษฐี เจ้าต่างเมือง ต่างพากันมาเสี่ยงทาย เป็นบิดาของพระราชโอรส แต่พระราชโอรสไม่ได้คลานไปหาใครเลย แม้จะใช้ของล่อใจอย่างไรก็ตาม
เจ้าเมืองแปลกพระทัย จึงให้เสนาไปตามแสนปม ซึ่งยังไม่ได้มาเสี่ยงทายในครั้งนี้ ให้มาเข้าเฝ้า เพื่อลองเสี่ยงทายเป็นบิดา เพราะเหลือแสนปมเพียงคนเดียว
แสนปมจึงมาเข้าเฝ้า พร้อมทั้งถือก้อนข้าวเย็นมาหนึ่งก้อน เมื่อมาถึงจึงอธิษฐานแล้วก้อนข้าวเย็นให้ พระราชโอรสก็คลานเข้ามาหา เจ้าเมืองจึงยกพระราชะธิดาให้ แก่แสนปม และให้กลับไปอยู่ที่เกาะปม
วันหนึ่งท้าวแสนปมไปทอดแหที่คลองขมิ้น แต่ทอดแหครั้งใดก็ได้แต่ขมิ้นจนเต็มลำเรือ แสนปมแปลกใจมาก เมื่อกลับไปบ้านขมิ้นกลับกลายเป้นทองคำ แสนปมจึงนำทองคำไปทำเปลให้ลูก และตั้งชื่อลูกว่าอู่ทอง
ทุกวันแสนปมจะไปถางไร่ จนกระทั่งวันหนึ่งแสนปมไปถึงไร่ก็พบว่าต้นไม้ที่ถางไว้กับขึ้นงดงามตามเดิม แสนปมจึงถากถางใหม่ แต่วันรุ่งขึ้นก็ปรากฏเหตุการณ์ เหมือนเดิม แสนปมถึงแอบดู ก็เห็นลิงตัวหนึ่งเดินตีกลอง ออกมาจากป่า ต้นไม้ก็กลับขึ้นงอกงามเหมือนเดิม
เมื่อกลับมาบ้าน พระราชธิดาไม่เชื่อว่าเป็นแสนปม แสนปมจึงเล่าเรื่องให้ฟัง และทดลองตีกลองให้ดู พระราชธิดาจึงเชื่อ จากนั้นท้าวแสนปม จึงตีกลองเพื่อเนรมิต เมืองใหม่ ให้ชื่อว่าเทพนคร และตั้งตัวเป็นเจ้าเมือง ผู้คนจึงเรียกขานว่าท้าวแสนปม
ตำนานท้าวแสนปม เกือบจะเป็นสากล คือมีตำนานกันอยู่หลายเมืองทั่วประเทศ แต่ที่เมืองไตรตรึงษ์ มีหลักฐานชัดเจน จึงอาจสรุปได้ว่า ท้าวแสนปมอยู่ที่เมืองกำแพงเพชรอย่างแน่นอน
แสดงความคิดเห็น