" นางอุทัยเทวี " นิทาน พื้นบ้านสอนคติสนใจ ตำนานที่เล่าขานสืบต่อกันมาช้านาน
เรื่องราวต่อไปนี้เกี่ยวข้อกับ คางคก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ มีรูปร่างอัปลักษณ์ หน้าเกลี้ยด นำมาสู่เรื่องราว นิทาน พื้นบ้านสอนคติสนใจ ตำนานที่เล่าขานสืบต่อกันมาช้านาน ให้ปุทุชนรุ่นหลังได้ศึกษา
อุทัยเทวี เป็นนิทานพื้นบ้านของไทย ทางอีสานเรียกว่า นางพญาขี้คันคาก
เรื่อง อุทัยเทวี
ณ นครใต้บาดาลอันเป็นเขตปกครองของ พญานาคราช พระองค์ทรงมีพระธิดาสิริโฉมงดงามองค์หนึ่งนามว่า สมุทมาลา ซึ่งเป็นที่รักดังดวงตาดวงใจ เมื่อถึงคราวจะได้คู่ครองธิดาพญานาคเกิดนึกอยากจะขึ้นไปเที่ยวเล่นบนเมืองมนุษย์ มิไยที่พญานาคและพระมเหสีจะทัดทานอย่างไรก็ไม่ยอมเชื่อฟัง เนื่องด้วยเกรงว่าจะถูกพญาครุฑศัตรูเก่าจับตัวไป พญานาคราชจึงสั่งให้เหล่านางนาคพี่เลี้ยงคอยดูแลพระธิดา อย่าให้คลาดสายตา แต่ด้วยความดื้อรั้นนางสมุทมาลาก็แอบหนีขึ้นไปบนโลกพิภพจนได้ขณะที่ธิดาพญานาคราชซึ่งแปลงร่างเป็นหญิงสาวกำลังเดินเล่นเที่ยวอยู่ในป่าตามลำพัง รุกขเทวดาเห็นความงามของนาง ก็มี ใจปฏิพัทธ์ จึงจำแลงกายเป็นมานพรูปงามมาหาแล้วเกี้ยวพาราสีจนได้นางเป็นชายา ครั้นพระอินทร์ทราบเรื่องเห็นว่ารุกขเทวดาเอาแต่มัวเมาในความรักไม่ทำหน้าที่พิทักษ์ป่าตามที่ได้รับมอบหมาย จึงเรียกตัวไปสอบสวนและลงโทษให้ไปอยู่นอกฟ้าป่าหิมพานต์ ส่วนธิดาพญานาคเมื่ออยู่คนเดียวตามลำพังก็เกิดความหวั่นกลัว ครั้นจะกลับไปสู่เมืองบาดาลก็เกรงว่าพระบิดาจะลงโทษเพราะบัดนี้ตนกำลังตั้งครรภ์ นางตัดสินใจสำรอกลูกในท้องออกมาเป็นไข่ฟองหนึ่ง พร้อมพ่นพิษนาคคุ้มครองไว้ไม่ให้ไข่ถูกทำลาย แล้วใช้ผ้าสไบของตนห่อไข่ไว้พร้อมกับนำไปซุกไว้ในพงหญ้าริมหนองน้ำโดยถอดแหวนวิเศษไว้ให้ลูกด้วย ครั้นรออยู่อีกระยะหนึ่งเห็นว่ารุกขเทวดาไม่กลับมาหาตนแน่ จึงจำต้องกลับไปอยู่ในบาดาลตามเดิม
ยังมีคางคกใหญ่ตัวหนึ่งซึ่งกำลังหิวจนตาลาย เห็นฟองไข่ของธิดาพญานาคก็รีบกลืนลงท้องทันที พิษของพญานาคทำให้คางคกตัวนั้นถึงแก่ความตาย เป็นเวลาเดียวกับที่ไข่ครบกำหนดคลอด พอเปลือกไข่แตกออกภายในก็มีเด็กผู้หญิงหน้าตาน่ารักน่าเอ็นดูคนหนึ่ง ซึ่งได้อาศัยอยู่ในซากคางคกนั้นเรื่อยมาด้วยเข้าใจว่าเป็นแม่ของตนที่ชายป่าใกล้หนองน้ำแห่งนั้นมีกระท่อมปลูกอยู่โดดเดี่ยวหลังหนึ่ง เจ้าของเป็นชายชราชื่อว่า ตาโถถาด มีภรรยาชื่อว่า ยายกาวัล ทั้งสองมีฐานะยากจนไร้บุตรหลานคอยดูแล ต้องเก็บผักหักฟืนหาปูหาปลาเลี้ยงชีวิตกันตามลำพัง
วันหนึ่งสองตายายมาช่วยกันใช้สุ่มหาปลาในหนองน้ำตั้งแต่เช้าจรดเย็นพบแต่ซากคางคกตัวเดียวก็โยนทิ้งไป เด็กหญิงที่อาศัยอยู่ในซากคางคก จึงขอให้ตายายนำตนไปเลี้ยงไว้ สองตายายเกิดเมตตาสงสารเห็นว่าซากคางคกนั้นพูดภาษาคนได้ก็นำกลับบ้านไปด้วยวันนั้นสองตายายไม่มีอาหารเย็นต่างชวนกันไปเก็บผักจากข้างรั้วหมายจะนำมาต้มแกงกินตามมีตามเกิด เด็กหญิงลูกธิดาพญานาคจึงออกจากซากคางคก ใช้แหวนวิเศษที่แม่ทิ้งไว้ให้เนรมิตข้าวปลาอาหารล้วนแต่ของดีๆ ขึ้นมามากมาย แล้วรีบกลับเข้าไปหลบอยู่ในซากคางคกอย่างเดิม สองตายายนึกแปลกใจว่าใครนำอาหารมาให้ วันรุ่งขึ้นได้แกล้งทำทีออกไปหาผักหาปลา แล้วย่องกลับมาแอบดูจึงรู้ความจริง ต่างช่วยกันอ้อนวอนให้หลานออกจากซากคางคกมาอยู่ข้างนอก แต่เด็กหญิงลูกธิดาพญานาคยังอาลัยซากคางคกขอกลับไปอาศัยอยู่อย่างเดิมตายายก็ตามใจ
15 ปีผ่านไป เด็กหญิงเติบโตเป็นสาว มีรูปร่างหน้าตางดงาม ผิวขาวเหมือนแสงอาทิตย์ยามอุทัย ตายายได้ตั้งชื่อให้ว่า นางอุทัยเทวี วันหนึ่งถึงคราวที่จะได้พบเนื้อคู่ นางอุทัยนึกอยากไปทำบุญที่วัดจึงเนรมิตดอกไม้ธูปเทียนแล้วให้ตายายพาไป ความงามของนางเป็นที่ร่ำลือของผู้ที่ได้พบเห็นโดยเฉพาะหนุ่มๆ ในครั้งนั้นเผอิญ เจ้าชายสุทราชกุมาร โอรสท้าวการพ และ พระนางกาวิล ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองเมือง ได้มาเที่ยวงานบุญที่วัดด้วยเช่นกัน เมื่อเจ้าชายทอดพระเนตรเห็นนางอุทัยเกิดมีใจรักใคร่เสน่หา สั่งให้ข้าราชบริพารไปสืบเรื่องราวของหญิงสาวที่พบ นางอุทัยเห็นมีคนตามมาถึงบ้านก็รีบเข้าไปซ่อนตัวในซากคางคก ทหารคนสนิทของเจ้าชายสุทราชกุมารสอบถามตายาย เห็นไม่ยอมบอกความจริง ได้ข่มขู่ว่าเจ้าชายต้องการตัวหลานสาวไปเป็นชายา ตายายโกรธที่ทหารของเจ้าชายมาแสดงอำนาจจึงบอกว่าจะยอมยกให้ก็ต่อเมื่อเจ้าชายสามารถสร้างสะพานเงินสะพานทองจากวังมาสู่ขอที่บ้านของตนเท่านั้น
เจ้าเมืองการพ ทราบเรื่องทรงพิโรธสั่งให้ทหารไปจับตัวตายายมาลงโทษฐานลบหลู่พระเกียรติยศ พระนางกาวิลทูลคัดค้านเพราะเกรงว่าจะเป็นที่ครหา ด้วยไปขอลูกหลานชาวบ้านเขาไม่ยกให้แล้วพาลหาเรื่องประหารเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง พระเจ้าการพเลยแก้เผ็ดด้วยการมีรับสั่งให้ตายายสร้างตำหนักเงินตำหนักทองรอรับเสด็จเจ้าชายภายใน 7 วัน หากเสร็จไม่ทันต้องมีโทษ นางอุทัยเห็นว่าสองตายายเดือดร้อนเพราะตน ตอนเที่ยงคืนจึงออกมาจากซากคางคกใช้แหวนวิเศษของธิดาพญานาคผู้เป็นมารดา เนรมิตปราสาทเงินปราสาททองเสร็จในชั่วพริบตา ฝ่ายพระอินทร์ได้มาช่วยเนรมิตสะพานเงินสะพานทองให้ตามที่เจ้าชายสุทราชกุมารอธิษฐานขอเพราะเห็นว่าเป็นเนื้อคู่สร้างสมบุญร่วมกันมาแต่ชาติปางก่อน พระเจ้าการพเห็นว่าทั้งสองต่างเป็นผู้มีบุญญาธิการเสมอกัน จึงจัดพิธีอภิเษกสมรสให้นางอุทัยเป็นราชเทวีของเจ้าชายสุทราชกุมารอย่างสมพระเกียรติ นางอุทัยเทวีได้เนรมิตสระน้ำไว้ริมพระราชวังเพื่อใช้เป็นที่สรงน้ำ เนื่องจากนางชอบเล่นน้ำตามเชื้อสายนาคราชฝ่ายพระเจ้ากัญจาราช และพระนางสันตา แห่งจุโลมนคร พระธิดาของพระองค์คือเจ้าหญิงฉันนา เป็นคู่หมั้นกับเจ้าชายสุทราชกุมาร ด้วยพระเจ้าการพเคยให้สัญญากับพระเจ้ากัญจาราชไว้ว่า เมื่อพระราชบุตรและพระราชธิดาของทั้งสองถึงวัยครองเรือนก็จะให้อภิเษกสมรสกัน แต่เหตุการณ์ผ่านมาเนิ่นนานถึง 15 ปี
จนพระเจ้าการพทรงลืมเลือน พระเจ้ากัญจาราชจึงมีราชสาสน์มาทวงถาม พระเจ้าการพขอให้เจ้าชายสุทราชกุมารไปอภิเษกกับเจ้าหญิงฉันนาคู่หมั้นเดิม ด้วยเกรงว่าหากผิดใจกับพระเจ้ากัญจาราชอาจเกิดศึกสงคราม ซึ่งเมืองการพเป็นเมืองเล็กกว่าย่อมเสียเปรียบ เจ้าชายสุทราชกุมารเกรงอาณาประชาราษฎร์จะเดือดร้อนรีบนำความไปปรึกษากับนางอุทัยเทวี นางอุทัยเทวีเชื่อในน้ำพระทัยของเจ้าชายสุทราชกุมารและเห็นแก่บ้านเมืองก็อนุญาตให้พระสวามีไปอภิเษกตามข้อผูกมัด เจ้าชายสุทราชกุมารได้ให้ช่างปั้นรูปเหมือนของตนไว้ให้นางอุทัยเทวี และนำรูปเหมือนของพระชายาไปยังจุโลมนครด้วยเพื่อเป็นที่ระลึก พร้อมรับสั่งว่าอีกไม่นานจะกลับมาหานางเช่นเดิม
หลังจากอภิเษกกับเจ้าหญิงฉันนาด้วยความจำเป็นแล้ว เจ้าชายสุทราชกุมารก็ไม่ได้สนใจไยดี ด้วยมีใจรักคงมั่นต่อนางอุทัยเทวี เจ้าหญิงฉันนาเกิดความน้อยพระทัยเมื่อทราบความจริงจากข้าหลวงคนสนิทก็คิดริษยา สั่งให้นำรูปนางอุทัยเทวีไปทิ้งน้ำแทนที่เจ้าชายสุทราชกุมารจะลืมเลือนนางอันเป็นที่รัก กลับยิ่งเฝ้าเพ้อคร่ำครวญถึงแต่นางอุทัยเทวีไม่สร่างซา มิหนำซ้ำยังพลอยโกรธเคืองเจ้าหญิงฉันนาทำให้หมางเมินยิ่งกว่าแต่ก่อน เจ้าหญิงฉันนายังไม่ยอมสำนึกตัวหันมาสร้างความดีเอาชนะใจเจ้าชาย กลับเชื่อแรงยุข้าหลวงคนสนิททำการว่าจ้างสองตายายผู้วิเศษให้ไปลวงจับเอานางอุทัยเทวีมากักขังไว้สองตายายขี่เรือพยนต์เหาะมาหานางอุทัยเทวีถึงเมืองการพแล้วลวงว่าเจ้าชายสุทราชกุมารให้มารับไปอยู่ด้วยกัน นางอุทัยเทวีหลงเชื่อนั่งเรือยนต์ไปกับตายายจึงตกอยู่ในเงื้อมมือของเจ้าหญิงฉันนา ด้วยความแค้นเจ้าหญิงฉันนาสั่งให้เฆี่ยนนางอุทัยเทวีจนสลบ แล้วให้สองตายายเจ้าเล่ห์นำไปทิ้งแม่น้ำ
เพราะเข้าใจว่านางอุทัยเทวีสิ้นชีวิตไปแล้วนางอุทัยเทวีมีเชื้อสายนาคราชพอร่างถูกน้ำก็ฟื้นขึ้นมา พอดีแม่ค้าขายขนมพายเรือผ่านมาจึงช่วยเอาไว้และพาไปเลี้ยงไว้ที่บ้านของตนซึ่งตั้งอยู่ริมน้ำ นางอุทัยอาสาพายเรือขายขนมแทนแม่ค้าโดยแปลงกายเป็นหญิงชราแต่มีผมดำสนิท แล้วพายเรือไปขายแถวท่าน้ำพระราชวังส่วนเจ้าหญิงฉันนานั้นผลกรรมได้ตามสนองทำให้ผมหงอกขาวโพลนหมดทั้งศีรษะ นางข้าหลวงคนสนิทจึงพาหญิงชราขายขนมซึ่งยังมีผมหงอกดำทั้งที่สูงวัยแล้วมาเฝ้าเจ้าหญิงฉันนาเพื่อให้ช่วยรักษา หญิงชราจึงโกนผมเจ้าหญิงฉันนาและเอาปลาร้าพอกจนทั่วแล้วใช้หม้อดินครอบเอาไว้ บอกว่าเป็นยาวิเศษอีก 7 วัน จะมาเอาหม้อที่ครอบไว้ออก ให้แผลที่ถูกมีดโกนผมบาดทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายจนเจ้าหญิงฉันนาสิ้นใจในเวลาต่อมาเพราะหมอหลวงทำการรักษาไม่ทัน เจ้าชายสุทราชกุมารบวชอุทิศส่วนกุศลให้เจ้าหญิงฉันนา เมื่อสึกแล้วจึงลาพระเจ้ากัญจาราชกลับไปยังเมืองการพของตนตามเดิม พระเจ้าการพได้มอบราชสมบัติให้เจ้าชายสุทราชกุมารและนางอุทัยเทวีครอบครอง บ้านเมืองก็สงบสุขเจริญรุ่งเรืองนับแต่นั้นมา
แสดงความคิดเห็น